alt

 

บทที่ 1

คณะภคินีพระราชินีมาเรีย

 

 

“เราได้รู้จักเจ้า  ก่อนที่เราได้ก่อร่างตัวเจ้าที่ในครรภ์

และก่อนที่เจ้าคลอดจากครรภ์ เราก็ได้กำหนดตัวเจ้าไว้

เราได้แต่งตั้งเจ้าเป็นผู้เผยพระวจนะให้แก่บรรดาประชาชาติ”  (ยรม  1:5)

 


1. กำเนิดของคณะ

คณะภคินีพระราชินีมาเรีย เป็นผลของพระพรพิเศษที่พระจิตเจ้าได้ประทานแก่พระศาสนจักรโดยผ่านทางคุณพ่อการ์โล  เดลลาโตร์เร  บิดาผู้ตั้งคณะ[1] เพื่อรวบรวมสตรีโสดผู้ที่มีใจกว้างยินดีอุทิศตนทั้งครบ  ตอบสนองพระกระแสเรียกโดยการปฏิญาณถือตามข้อแนะนำแห่ง          พระวรสาร 3 ประการ  พรหมจรรย์   ความยากจน   และความนอบน้อมเชื่อฟัง  เพื่อร่วมมือกับพระ ศาสนจักรกระทำให้โครงการไถ่กู้สำเร็จไป

 

2. สถานภาพของคณะ

สถาบันนักบวชนี้มีชื่อว่า “คณะภคินีพระราชินีมาเรีย”    ใช้อักษรย่อว่า   “ภ.พ.ม.”  ชื่อภาษาอังกฤษคือ “The  Sisters of  the  Queenship  of  Mary”[2] และใช้อักษรย่อว่า “S.Q.M.” อยู่ภายใต้การดูแลพิเศษแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ[3] ภคินีมีการปฏิญาณตนถือพรหมจรรย์ ความยากจน  และความนอบน้อมเชื่อฟัง โดยสมัครใจตอบสนองพระกระแสเรียกของพระเจ้า และมาดำเนินชีวิตร่วมกันเป็นหมู่คณะ

 

3. พระพรพิเศษของคณะ

พระพรพิเศษของคณะภคินีพระราชินีมาเรีย คือ หมู่คณะนักบวชที่มาเจริญชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง เพื่อรับใช้พระเจ้า และพระศาสนจักร ด้วยการเจริญชีวิตเลียนแบบครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ที่นาซาเรธ  ตามแบบอย่างชีวิตของคุณพ่อการ์โล  เดลลา  โตร์เร   บิดาผู้ตั้งคณะ[4]

 

4. จิตตารมณ์ของคณะ

จิตตารมณ์ของคณะเป็นชีวิตของผู้ตั้งคณะที่เด่นที่สุดที่ท่านพยายามปลูกฝัง  ซึ่งปรากฏออกมาในความศรัทธาต่อศีลมหาสนิท ภาวนาและทำงาน  รักและมีความศรัทธาต่อแม่พระเป็นพิเศษ  ร่าเริง  เป็นกันเองในบรรยากาศแห่งความรัก ความสุภาพ และเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนี้ภคินีต้องดำเนินชีวิตเยี่ยงครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ที่นาซาเรธ  จิตตารมณ์ดังกล่าว  เป็นขุมทรัพย์ฝ่ายวิญญาณที่คณะได้รับตกทอดมาจากผู้ตั้งคณะ เพื่อนำมาดำเนินชีวิต  ภคินีต้องรักษาไว้ให้มั่นคงมิเสื่อมคลายและหยั่งรากลึกทั้งปรับปรุงให้เจริญพัฒนาอยู่เสมอ[5]

 

5. ภารกิจของคณะ

คณะภคินีพระราชินีมาเรีย  ตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ที่จะฟื้นฟูและขยายพระอาณาจักรของพระเจ้า  ด้วยคำภาวนาและกิจการต่าง ๆ   ภายใต้การนำของพระราชินีมาเรีย  ท่ามกลางประชาชนต่างศาสนาและครอบครัวคริสตชน  อีกทั้งเยาวชนโดยเฉพาะผู้ที่ขัดสน  ทั้งนี้โดยร่วมมือกับพระศาสนจักรท้องถิ่น

 

6. องค์อุปถัมภ์ของคณะ[6]

คณะภคินีพระแม่มารีราชินีผู้นิรมล ได้ริเริ่มในความอุปถัมภ์และการแนะนำของพระราชินีมา-เรียผู้นิรมล  ฉะนั้นภคินีแต่ละคนพึงถือว่า ตนเป็นบุตรีของพระนาง โดยยึดเอาพระนางเป็นองค์อุปถัมภ์เอกของคณะ  ทั้งเจริญชีวิตตามแบบอย่างของพระนางด้วยความซื่อสัตย์  นอกนั้นภคินีจะมีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อนักบุญยอแซฟผู้เป็นแบบอย่างในความซื่อสัตย์และขยันขันแข็งในการทำงาน และเลียนแบบชีวิตของคุณพ่อการ์โล  เดลลา  โตร์เร บิดาผู้ตั้งคณะ

 

7. ความสัมพันธ์กับคณะซาเลเซียน

เนื่องด้วยคณะพระราชินีมาเรีย มีความสัมพันธ์กับคณะซาเลเซียน  ทั้งโดยทางผู้ตั้งคณะ และจิตตารมณ์ที่ท่านได้มอบให้ตกทอดมายังบรรดาสมาชิก  คณะมีความประสงค์จะรับการอบรมจิตใจจากสงฆ์คณะซาเลเซียนเท่าที่สามารถทำได้  ทั้งนี้เพื่อจะรักษาไว้ซึ่งจิตตารมณ์ของผู้ตั้งคณะ

 



[1] เทียบ PC 1

[2] เทียบ Prot. n. I.s. 5621/04, Prot. n. DD 2782-1/2008  Vatican City, 11 January 2011 ลงนามโดย  Joseph  W. Tobin  C.Ss.R. Archbishop  Secretary

[3] เทียบ CIC 594-595

[4] เทียบ MR 11,  VC  36, ET 11

[5] เทียบ MR 11,  VC 36

[6] เทียบ อนุสรณ์แห่งความรักที่พ่อมอบให้แก่ลูก  หน้า  253, CDR 13

อ่านต่อ...